วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เซิ้งแหย่ไข่มดแดง

ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง


ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง
       ในอดีตนั้น การประกอบอาหารและการเสาะหาแหล่งอาหารของชาวไทอีสานในความเป็นอยู่แบบพอเพียงไม่ได้ซื้อหาจากตลาดหรือร้านค้าดั่งเช่นในปัจจุบัน ชาวอีสานในอดีตจึงออกแสวงหาอาหารในแหล่งธรรมชาติใกล้ชุมชน เช่น ในท้องนา ป่าชุมชน ป่าทาม รวมไปถึงในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ แม้ว่าปัจจุบันวิถีชีวิตบางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็ตาม ด้วยกระแสบริโภคนิยม บางท้องที่หรือบางชุมชนก็ยังหาอยู่หากินอย่างพอเพียงตามวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมกันอยู่

     “ไข่มดแดง” รวมถึงตัวอ่อนของมดแดง ก็ถือได้ว่าเป็นอาหารอีสานที่หารับประทานได้ในช่วงหน้าแล้งเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นอาหารตามฤดูกาลแม้ในปัจจุบันก็ยังได้รับความนิยมในการบริโภคกันอยู่ ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และสามารถหาได้ง่ายๆในท้องถิ่น ซึ่งกรรมวิธีการหาไข่มดแดงจะต้องมีอุปกรณ์ คือ ไม้ไผ่ยาวผูกปลายด้วยตะกร้า และมีคุใส่น้ำเตรียมไว้ใส่ไข่มดแดงที่แหย่ได้ แล้วใช้เศษผ้ากวนเอาตัวมดแดงแยกออกจากไข่ เพื่อนำไปประกอบอาหารต่อไป

     ภาควิชานาฏศิลป์ วิทยาลัยครูบุรีรัมย์ (มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์) ได้ศึกษารูปแบบการ แหย่ไข่มดแดงของชาวบ้าน โดย อ.ประชัน คะเนวัน และ อ. ดรรชนี อุบลเลิศ ได้ศึกษาขั้นตอนอย่างละเอียด ก่อนจะนำมาประดิษฐ์เป็นชุดการแสดง “เซิ้งแหย่ไข่มดแดง” ซึ่งมีความสนุกสนานเร้าใจในแบบศิลปการแสดงแบบชาวอีสาน ซึ่งได้แสดงออกถึงการออกไปหาไข่มดแดง ซึ่งได้มาอย่างยากลำบาก ทั้งต้องถูกมดแดงกัดหรือไต่ตามเสื้อผ้า การกวนแยกตัวมดแดงออกจากไข่ ทำให้ชุดการแสดงนี้บอกเล่าวิธีการได้อย่างละเอียด

การแสดงฟ้อนแหย่ไข่มดแดง
- เดินทางออกจากบ้าน ฝ่ายหญิงจะถือคุใส่น้ำและเศษผ้าเหน็บไว้ที่เอว ชายถือไม้ยาวผูกตะกร้าที่ปลายไม้สำหรับแหย่รังมดแดง
- มองหารังมดแดง
- แหย่มดแดงได้เทลงในครุใส่น้ำ
- นำผ้ากวนมดแดง เพื่อแยกตัวมดออกจากไข่มดแดง
- เทน้ำออกจากครุ
- เก็บอุปกรณ์เดินทางกลับบ้าน
ฟ้อนแหย่ไข่มดแดง

    เครื่องแต่งกาย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคาดเอว และใช้ผ้าขาวม้าโพกศีรษะ ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอก 3 ส่วนคอกลม ห่มสไบ นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่สั้นแค่เข่า

    ดนตรี ลายสุดสะแนน ลายเซิ้งบั้งไฟ

    อุปกรณ์สำหรับการแสดง คุใส่น้ำ ตะกร้าผูกปลายไม้ยาว ผ้าสำหรับกวนมดแดง



ไฟร์วิดีโอ

รำบายศรีสู่ขวัญ


รำบายศรีสู่ขวัญ



 
รำบายศรีสู่ขวัญ
          การฟ้อนบายศรีสู่ขวัญ เนื่องมาจากพิธีบายศรีสู่ขวัญเมื่อมีแขกมาเยือน ซึ่งเป็นแขกที่มีเกียรติหรือแขกผู้ใหญ่ที่มาจากต่างถิ่น ชาวอีสานจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลโดยมีพานบายศรี หรือที่เรียกว่า "พาขวัญ" การจัดพาขวัญนี้ปกติต้องจัดด้วยพานทองเหลือง หรือขันสัมฤทธิ์หลายใบซ้อนๆ กัน ซึ่งมีตั้งแต่ ชั้นถึง ชั้น มีใบตองจัดเป็นกรวยเข้าช่อ ประดับดอกไม้สดดูสวยงาม
          
ชั้นล่างของพาขวัญจะเป็นพานมีใบศรีทำด้วยใบตอง ดอกไม้สด ข้าวต้ม ไข่ต้ม ขนม กล้วย อ้อย ปั้นข้าว เงินฮาง มีดด้ามแก้ว มีดด้ามคำ ชั้นต่อไปจะตกแต่งด้วยใบศรีและดอกไม้สด ซึ่งจะเป็นดอกปาง ดอกดาวเรือง ดอกรัก ใบเงิน ใบคำ ใบคูณ ใบยอป่า

          
ชั้นที่ จะมีฝ้ายผูกข้อมือ เทียนเวียนหัว นอกจากพาขวัญแล้วจะต้องมีเครื่องบูชาอื่นๆ เช่น ขันบูชา ขันธ์ ซึ่งมีพานขนาดกลางสำหรับวางผ้า ผืน แพร วา หวี กระจกเงา น้ำอบน้ำหอม สร้อย แหวน ของผู้เป็นเจ้าของขวัญ โดยจะมีพรารหมณ์เป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ ตามท่วงทำนองของชาวบ้าน ในคำเรียกขวัญนั้นมีทั้งคาถาที่เป็นภาษาบาลีและคำเรียกขวัญภาษาถิ่น หรือที่เรียกว่า "สูตรขวัญ" ซึ่งคำสูตรขวัญนั้นยากแก่การเข้าใจของผู้มาเยือน จึงมีการจัดทำชุดฟ้อน บายศรีขึ้น เพื่อให้คนต่างถิ่นได้เข้าใจเพราะมีคำร้องที่เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย แต่งโดย อาจารย์ดำเกิง ไกรสรกุลและท่าฟ้อนประดิษฐ์ขึ้นโดย อาจารย์พนอ กำเนิดกาญจน์แห่งวิทยาลัยครูอุดรธานี ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่
เนื้อร้องอาจจะเพี้ยนจากเดิมไปบ้าง
มาเถิดเย้อ                        มาเย้อขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
หมู่ชาวเมืองมา                 บื้องขวานั่งส่ายลาย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว
ยอพอขวัญมากันเพริศแพรว ขวัญมาแล้วมาสู่คิงกม
เกศเจ้าหอมลอยลม                     ทัดเอื้องชวนชมเก็บเอาไว้บูชา
ยามฝนพรำเจ้าอย่าแข็ง       แดดร้อนแรงเจ้าอย่าครา
อยู่ที่ไหนจงมา                  รัดด้ายไชยามาคล้องผ้าแพรกระเจา
อย่าเพลินเผลอ                          มาเย้อขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
อยู่แดนดินใด                    ฤาฟ้าฟากใด ขอให้มาเฮือนเฮา
เพื่อนอย่าคิดอาลัยสู่เขา      ขออย่าเว้าขวัญเจ้าจะตรม
หมอกน้ำค้างพร่างพรม        ขวัญอย่าเพลินชมป่าเขาลำเนาไพร
เชิญไหลทาประทินกลิ่นหอม ดมพะยอมให้ชื่นใจ
เหล่าข้าน้อยแต่งไว้                     ร้อยพวงมาลัยจะคล้องให้สวยรวย

ฟ้อนแคน

ฟ้อนแคน


แคน

    แคน เครื่องดนตรีแห่งลุ่มน้ำโขงซึ่งมีความละเอียดซับซ้อน มีเสียงไพเราะลึกซึ้งกินใจอย่างน่าอัศจรรย์ สามารถบรรเลงได้ทั้งเสียงเดี่ยวและเสียงควบ บรรเลงได้ทั้งแบบหวานซึ้งและสนุกสนานรื่นเริง

    แคน ทำจากไม้ตระกูลไผ่ ที่เรียกว่าไม้เฮี้ย และเนื่องจากเป็นไม้ที่นิยมนำมาทำแคน จึงมักเรียกว่า ไม้กู่แคน

    เสียงแคน เกิดจากการสั่นสะเทือนของหลาบโลหะ ที่เรียกว่าลิ้นแคน ซึ่งมีรูปทรงเลียนแบบมาจากลิ้นนก เพื่อเลียนเสียงของนกการเวก ลิ้นแคนที่สั่น เกิดเป็นเสียงดังเข้าไปในลำไม้กู่แคน ทำให้มีเสียงกังวานที่ไพเราะขึ้น
วิถีชีวิตชาวอีสาน เมื่อเสร็จจากภาระกิจประจำวันแต่ละวัน ชาวบ้านมักจะนำแคนมาเป่าเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ตัวเองก็ผ่อนคลาย คนอื่นบ้านใกล้เรือนเคียง ได้ฟังก็ผ่อนคลายอารมณ์เช่นกัน

     สำหรับชายหนุ่ม พอมืดค่ำ มักจะรวมกลุ่มกันเดินดีดพิณเป่าแคนไปแอ่วสาว(จีบสาว) หรือบางครั้ง ก็รวมตัวกันที่ลานบ้านใครคนหนึ่ง ดีดพิณเป่าแคน เด็กๆ คนเฒ่าคนแก่ รวมถึงสาวๆ ก็มารวมกัน ร่วมเล่นสนุกท่ามกลางเดือนหงาย เมื่อผ่อนคลายแล้ว ก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน

    ฟ้อนแคน ได้นำเสนอบรรยากาศการเกี้ยวพาราสี เล่นสนุกสนานกันระหว่างหนุ่มสาวชาวบ้าน   โดยใช้แคนเป็นอุปกรณ์หลัก หรือเป็นสื่อ

    ดนตรี บรรเลงจังหวะเซิ้ง โดยใช้ลายเต้ยโขง, เต้ยธรรมดาออกลายลำเพลิน

    อุปกรณ์ แคน
 


                                                      การแต่งกาย 


- ชาย  สวมเสื้อแพรแขนสั้น นุ่งโจงกระเบน ใช้ผ้าสไบขิดมัดเอว สวมสร้อยคอ
- หญิง  สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบขิด นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ยาวคลุมเข่า ผมเกล้ามวยประดับดอกไม้ สวมเครื่องประดับเงิน

     เนื้อร้องฟ้อนแคน (วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์)

 (เกริ่น)
ได้ยินเสียงแคนอ้าย คืนเดือนหงายคึดฮอดพี่ เสียงลมพัดวี่วี่ ผัดแฮงคึดฮอดอ้าย โอยหลายมื้อ แต่คิดนำ จักแม่นกรรมหยังน้อ จั่งหมองใจได้ไห้จ่ม พี่เอ๋ย...พี่ บ่สมความมาดแม้นแลงเซ้าดูเปล่าดาย ซ่างบ่กลายมาบ้าน ให้นงคราญได้เหลียวเบิ่ง มาให้ใจอีน้อง ได้มองอ้ายให้ชื่นใจ…นั่นละหนา

(ร้อง)
 เสียงแคนดัง ฟังตุแลแล่นแตร้     ตุแลแล่นแตร้ ไผนอมาเป่า ๆ
เสียงเหมือนดังเรียกสาว            ถามว่าบ้านอยู่ไส
น้องได้ฟัง                              เสียงแคนดังหวนไห้
เสียงแคนบาดดวงใจ                เหมือนอ้ายเคยเป่าให้ฟัง ๆ

*       โอ้…ฮักเอ๋ย                   ก่อนอ้ายเคยเว้าสั่ง
ฮักอ้ายบ่จืดบ่จาง                      เหมือนแคนอ้ายสั่งดังแล้แล่นแตร ๆ 
        บ่ลืมเลือน                       ยามเมื่อเดือนส่องหล้า
สองเฮาเคยเว้าว่า                      บ่ลืมสัญญา ฮักใต้ร่มไทร
ยามน้องจากมา                         อ้ายจ๋า อย่าห่วงอาลัย
เสียงแคนคราใด                        ยังคิดฮอดอ้ายอยู่ทุกเวลา ๆ

(ซ้ำ *) 


ไฟร์วิดีโอ

ภูไทยสามเผ่า





       ชาวภูไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกลุ่มไทลาว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแม่น้ำโขงแยกกลุ่มนี้ออกจากภูไทในภาคเหนือของลาว และญวน กลุ่มภูไทกลุ่มใหญ่ที่สุดอาจจะอยู่แถบลุ่มน้ำโขง และแถบเทือกเขาภูพาน เช่น จังหวัดนครพนม ได้แก่อำเภอคำชะอี ธาตุพนม เรณูนคร นาแก จังหวัดสกลนคร ได้แก่ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ อำเภอกุฉินารายณ์ เขาวง สหัสขันธ์ ส่วนภูไทผู้เข้าสู่ภาคกลางในจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ในย่านนั้นเรียกว่า 'ลาวโซ่ง' 

      เผ่าภูไท เป็นคนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และอาณาจักรล้านช้าง การเคลื่อนย้ายของชาวภูไท เข้าสู่ภาคอีสานมีหลายครั้ง และมาจากที่ต่างๆ จึงทำให้กลุ่มภูไทที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดสกลนคร เรียกชื่อตัวเองตามแหล่งเมืองเดิมของตนเช่น ผู้ไทวัง คือ ผู้ไทที่อพยพมาจากเวงวัง มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบอำเภอพรรณานิคม 
ผู้ไทกระป๋อง คือภูไทที่อพยพมาจากเมืองกะปอง มาตั้งบ้านเรือนในเขตอำเภอวาริชภูมิ ผู้ไทกะตาก คือผู้ไทที่อพมาจากเมืองกะตาก มาตั้งบ้านเรือนอยู่แถบตำบลโนนหอม และแถบริมหนองหาร ทางทิศใต้ 

      ชาวภูไทมีลักษณะความเป็นอยู่แบบครอบครัวใหญ่ในบ้านเดียวกัน เป็นกลุ่มคนทำงานที่มีความขยันขันแข็ง มัธยัสถ์ ทำงานได้หลายอาชีพเช่น ทำนา ทำไร่ ค้าวัว ค้าควาย นำกองเกวียนบรรทุกสินค้าไปขายต่างถิ่นเรียกว่า 'นายฮ้อย' เผ่าภูไทเป็นกลุ่มที่พัฒนาได้เร็วกว่าเผ่าอื่น มีความรู้ความเข้าใจและมีความเข้มแข็งในการปกครอง มีหน้าตาที่สวย ผิวพรรณดี กริยามารยาทแช่มช้อย มีอัธยาศัยไมตรีในการต้อนรับแขกแปลกถิ่นจนเป็นที่กล่าวขวัญถึง

      เผ่าภูไทนิยมนุ่งผ้าซิ่นหมี่ตีนต่อ เป็นผืนเดียวกันกับผ้าผืนกว้างประมาณ 4-5 นิ้ว ย้อมครมเกือบสีดำ เรียกว่าผ้าดำหรือซิ่นดำ สวมเสื้อแขนกระบอกสามส่วน สำดำขลิบแดง ติดกระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ หรือกระดุมขาวมาติดเรียงสองแถวห่มด้วยผ้าขิดพื้นเมือง เปลือยไหล่ด้านขวา ห่มด้านซ้ายและมัดชายผ้าสีข้างด้านขวา นิยมสวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ข้อเท้า ด้วยโลหะเงิน เกล้าผมเป็นมวยสูงตั้งตรง ใช้ผ้ามนหรือแพรมนทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ ม้วนผูกมวยผม 
วัฒนธรรมประเพณี เผ่าภูไท มีเอกลักษณ์เป็นจุดเด่นหลายประเภท เช่น การแต่งทำนองดนตรี เรียกว่า 'ลายเป็นเพลงของภูไท' มีบ้านแบบภูไทคือ มีป่องเอี้ยม เป็นช่องลม มีประตูป่อง หน้าต่างยาวจรดพื้น มีห้องภายในเรือนเป็นห้องๆ ที่เรียกว่า 'ห้องส่วม' 

      นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมการทอผ้าห่มผืนเล็กๆ ใช้สำหรับห่มแทนเสื้อกันหนาวใช้คลุมไหล่ เรียกว่า ผ้าจ่อง นอกจากนี้แล้วยังมีผ้าแพรวา ใช้ห่มเป็นสไบ ซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และมีผ้าลาย ใช้เป็นผ้ากั้นห้องหรือห่มแทนเสื้อกันหนาวได้ ซึ่งมีแหล่งใหญ่อยู่บ้านนางอย อำเภอเตางอย จังหวัดสกลนคร ประเพณีที่สำคัญของเผ่าภูไทซึ่งถือกันแต่โบราณ ได้แก่ การลงข่วง พิธีแต่งงาน การทำมาหากิน การถือผี และการเลี้ยงผี


    ประวัติความเป็นมา

     ในพงศาวดารเมืองแถง(แถน) กล่าวถึง การกำเนิดมนุษย์และถิ่นกำเนิดของชาวภูไทว่า เกิดจากเทพสามีภรรยา 5 คู่ ซึ่งเป็นพี่น้องกัน เมื่อหมดอายุบนสวรรค์จึงอธิษฐานจิตเนรมิตน้ำเต้าขึ้นมา เทพทั้ง 5 คู่ ก็เข้าไปอยู่ในน้ำเต้า น้ำเต้าลอยจากสวรรค์มาตกบนภูเขาที่ทุ่งนาเตา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองแถงไปทางตะวันออกเป็นระยะทางเดิน 1 วัน น้ำเต้าได้แตกออก เทพได้กลายเป็นมนุษย์ 5 คู่ ออกมาจากน้ำเต้าทีละคู่ตามลำดับ คือ ข่า แจะ ภูไท ลาวพุงขาว ฮ่อ(จีน) และแกว(ญวน) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของมนุษย์ 5 เผ่าพันธุ์ในเวลาต่อมาคนเหล่านี้ได้แยกย้ายกันตั้งรกรากในพื้นที่ต่าง ๆสำหรับชาวภูไทตั้งบ้านเรือนที่เมืองแถง มีขุนลอคำเป็นหัวหน้า ประชากรของภูไทได้เพิ่มจำนวนถึง 33,000 คนในเวลาต่อมา และขยายตัวไปตั้งรกรากหลายเมือง ขุนบรมราชบุตรของขุนลอคำ ได้เป็นเจ้าเมืองแถงใน พ.ศ. 1274 ขุนลอบุตรของขุนบรมราชาได้มาตั้งเมืองหลวงพระบางใน พ.ศ. 1283จากพงศาวดารเมืองไล กล่าวว่า ชาวภูไท ในดินแดนนี้ 2 พวกคือ
      1. ภูไทขาว อาศัยอยู่เมืองเจียน เมืองมุน เมืองบาง มีเมืองไลเป็นเมืองใหญ่ รวม 4 เมือง ดินแดนแถบนี้อยู่ใกล้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อากาศหนาว ชาวภูไทจึงมีผิวขาว อีกทั้งได้รับอารยธรรมจากจีน โดยเฉพาะการแต่งกายในพิธีศพ ซึ่งนิยมนุ่งขาว ห่มขาว จึงเรียกชาวภูไทกลุ่มนี้ว่า ?ภูไทขาว?
      2. ภูไทดำ อาศัยอยู่เมือง ควาย,เมืองคุง เมืองม่วย, เมืองลา เมืองโมะเมืองหวัด เมืองซาง มีเมืองแถง(แถน) เป็นเมืองใหญ่ รวมเป็น 8 เมือง ชาวภูไทกลุ่มนี้มีผิวคล้ำกว่าภูไทตอนบน และนิยมแต่งกายด้วยผ้าพื้นเมืองย้อมครามเข้ม และอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำดำ ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรม จึงเรียกว่า ภูไทดำ?ชาวภูไททั้ง 2 กลุ่ม รวมกันแล้วเป็น 12 เมือง จึงเรียกว่า แคว้น ?สิบสองจุไทย?เมืองไล เมืองของชาวภูไทขาว ตั้งอยู่ในดินแดนคาบเกี่ยว หรือตะเข็บของลาว จีน และญวน เพื่อความอยู่รอด เมืองนี้จึงจำเป็นต้องอ่อนน้อมแก่ทั้ง 3 ฝ่าย ต้องส่งส่วยแก่ทุกฝ่ายเดิมแคว้นสิบสองจุไทย ขึ้นกับอาณาจักรน่านเจ้า ครั้นต่อมาไปขึ้นอยู่กับอาณาจักรโยนกเชียงแสน เมื่ออาณาจักรโยนกเชียงแสน ถูกพวกภูไทมาทำลายลง สิบสองจุไทยได้ไปขึ้นกับแคว้นหิรัญเงินยวง (ต่อมาแคว้นนี้เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรลานนา)ใน พ.ศ.2250 อาณาจักรล้านช้างได้แตกเป็น 2 อาณาจักร คือทางเหนือ เรียกว่า อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ทางใต้ เรียกว่า อาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ สิบสองจุไทยอยู่ภายใต้การดูแลของอาณาจักรแรกต่อมาบังเกิดการอัตคัดอดอยาก และความขัดแย้งระหว่างท้าวก่า หัวหน้าของชาวภูไท กับเจ้าเมืองนาน้อยอ้อยหนู (น้ำน้อยอ้อยหนู) ท้าวก่าจึงพา ชาวภูไทเป็นจำนวนมาก (ประมาณหมื่นคน) อพยพจากเมืองนาน้อยอ้อยหนูมาขอขึ้นกับเวียงจันทน์ โดยทางเวียงจันทน์ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองวัง (อยู่ทางตะวันออกของเมืองมุกดาหาร ห่างประมาณ 150 กิโลเมตร) ชาวภูไทกลุ่มนี้ ได้ส่งส่วยมีดโต้และขวานให้เวียงจันทน์ ปีละ 500 เล่ม แต่เนื่องจากเมืองวังอยู่ชายแดนอาณาจักรล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ แต่ใกล้พรมแดนเวียดนาม พวกเขาจึงได้ส่งส่วยขี้ผึ้ง 5 ปึก (ปึกหนึ่งหนัก 5 ชั่ง) ให้แก่ เจ้าเมืองคำรั้วของเวียดนามด้วย

      การอพยพของชาวภูไทเข้าสู่ประเทศไทย มี 3 ระลอกด้วยกันคือ
       ระลอกที่ 1 สมัยธนบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2321-2322 เมื่อกองทัพไทยซึ่งมีเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) กับเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ได้นำกองทัพไทยสองหมื่นคนตีหัวเมืองลาว ตั้งแต่จำปาศักดิ์ถึงเวียงจันทน์เอาไว้ได้ หลวงพระบางซึ่งไม่ถูกกับเวียงจันทน์มาก่อนก็นำกำลังมาช่วยตีเวียงจันทน์ด้วย แม่ทัพไทยได้ให้กองทัพหลวงพระบางไปตีเมืองทันต์ (ญวนเรียก ซือหวี)เมืองมวย ซึ่งเป็นเมืองของชาวภูไทดำได้ทั้งสองเมือง แล้วกวาดต้อนชาวภูไทดำ(ลาวทรงดำ) เป็นจำนวนมากมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรี นับเป็นชาวภูไทรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย
      ระลอกที่ 2 สมัยรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ. 2335 กองทัพเวียงจันทน์ตีหลวงพระบางแตกและจับกษัตริย์หลวงพระบางส่งกรุงเทพ ฯ ใน พ.ศ.2335-2338 กองทัพเวียงจันทน์ได้ตีเมืองแถง และเมืองพวน ซึ่งแข็งข้อต่อเวียงจันทน์ กวาดต้อนชาวภูไทดำ ลาวพวนเป็นเชลยส่งมากรุงเทพ ฯ รัชกาลที่ 1 ทรงมีรับสั่งให้ชาวภูไทดำประมาณ 4,000 คนไปตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรีเช่นเดียวกับชาวภูไทดำรุ่นแรก
      

       ระลอกที่ 3 สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการอพยพประชากรครั้งใหญ่ที่สุดจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาอยู่ในประเทศไทย สาเหตุของการอพยพ คือ เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ใน พ.ศ. 2369 - 2371 และเกิดสงครามระหว่างไทยกับเวียดนามในระหว่างปี พ.ศ.2376-2490 ยุทธวิธีของสงครามสมัยนั้น คือ การตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามทั้งฝ่ายไทยและเวียดนามต่างกวาดต้อนประชากรในดินแดนลาวมาไว้ในดินแดนของตนสำหรับประชากรในดินแดนลาวที่ถูกไทยกวาดต้อนมาอยู่ในประเทศไทยจะมีทั้ง ภูไท กะเลิง โซ่ ญ้อ แสก โย้ย ข่า ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกวาดต้อนมาไว้ในภาคอีสาน ส่วนลาวพวน ลาวเวียง กวาดต้อนให้มาตั้งถิ่นฐานทั้งในภาคอีสานและภาคกลางของประเทศไทย แถบฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม เป็นต้นชาวภูไทที่ถูกกวาดต้อนมาในระลอกที่ 3 จะแยกเป็น 8 กลุ่มด้วยกัน สำหรับชาวภูไทในเขตจังหวัดสกลนคร เป็นพวกที่อพยพเข้ามาในกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 8 ดังนี้
กลุ่มที่ 3 อพยพมาจากเมืองวัง มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (ใน พ.ศ.2513 อำเภอพรรณานิคม มี 7 ตำบล มีชาวภูไททั้ง 7 ตำบล รวม 65หมู่บ้าน 32,037 คน อำเภอเมืองสกลนคร มีภูไท 48 หมู่บ้าน ใน 13 ตำบล จาก 17 ตำบล อำเภอพังโคน มีภูไท 4 ตำบล 23 หมู่บ้าน อำเภอบ้านม่วง มีภูไท 3 ตำบล 16 หมู่บ้าน อำเภอวานรนิวาส มีภูไท 4 ตำบล 8 หมู่บ้าน อำเภอกุสุมาลย์ 2 ตำบล 4 หมู่บ้านอำเภอสว่างแดนดิน 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน อำเภอกุดบาก 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน อำเภอวาริชภูมิ 4 ตำบล 42 หมู่บ้าน รวมทั้งจังหวัดสกลนครมีภูไท 212 หมู่บ้าน 20,945 หลังคาเรือน 128,659 คน)
กลุ่มที่ 8 อพยพจากเมืองกะป๋อง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปลาเป้า บ้านนียกเป็นเมืองวาริชภูมิ และตั้งท้าวพระยาสุวรรณเป็นพระสุรินทรบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองคนแรก ใน พ.ศ. 2410 ปลายสมัยรัชกาลที่ 4 (ใน พ.ศ.2513 มีภูไทในอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร 4 ตำบล ตำบลวาริชภูมิ 1 หมู่บ้าน ตำบลคำบ่อ 12 หมู่บ้าน ตำบลปลาโหล 9 หมู่บ้าน และตำบลเมืองลาด 7 หมู่บ้าน รวม 42 หมู่บ้าน)ชาวภูไทที่ถูกกวาดต้อน-อพยพมาตั้งภูมิลำเนา ในจังหวัดสกลนคร อย่างเป็นปึกแผ่น ได้รับความร่มเย็นเป็นสุข หัวหน้าแต่ละพวกที่แยกย้ายกันอยู่ ได้ติดต่อปรึกษากับเจ้าเมืองที่ตนอาศัยอยู่เพื่อขอตั้งเมือง เช่น เจ้าเมืองโฮงกลางสี ที่อยู่บ้านพังพร้าว ท้าวแก้ว อยู่ที่บ้านจำปา และท้าวราชนิกุล อยู่บ้านหนองหอย ก็ติดต่อกับเจ้าเมืองสกลนคร เพื่อตั้งหมู่บ้านที่ตนตั้งภูมิลำเนาอยู่เป็นเมือง คือ บ้านพังพร้าว ขอตั้งเป็นเมืองพรรณานิคมบ้านจำปา ขอตั้งเป็นเมืองจำปาชนบท และบ้านหนองหอย ขอตั้งเป็นเมืองวาริชภูมิ เป็นต้นสำหรับชาวภูไททั้ง 8 กลุ่ม ได้ขยายจำนวนออกไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคอีสานอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา รวมเป็น 9 จังหวัด 33 อำเภอ 494 หมู่บ้าน สรุปได้ดังนี้

1.จังหวัดสกลนคร 212 หมู่บ้าน 9 อำเภอ(พรรณานิคม เมืองสกลนครวาริชภูมิ พังโคน บ้านม่วง วานรนิวาส กุสุมาลย์ สว่างแดนดิน กุดบาก)
2. จังหวัดนครพนม 131 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (นาแก เรณูนคร ธาตุพนม ศรีสงคราม เมืองนครพนม)
3. จังหวัดมุกดาหาร 68 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (คำชะอีก เมืองมุกดาหาร นิคมคำสร้อย ดอนตาล หนองสูง)
4. จังหวัดกาฬสินธุ์ 63 หมู่บ้าน 5 อำเภอ (เขาวง กุฉินารายณ์ คำม่วง สมเด็จ สหัสขันธ์)
5. จังหวัดหนองคาย 6 หมู่บ้าน 3 อำเภอ(โซ่พิสัย บึงกาฬ พรเจริญ)
6. จังหวัดอำนาจเจริญ 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (เสนางคนิคม ขานุมาน)
7. จังหวัดอุดรธานี 5 หมู่บ้าน 2 อำเภอ (วังสามหมอ ศรีธาตุ)
8. จังหวัดยโสธร 3 หมู่บ้าน 1 อำเภอ (เลิงนกทา)
9. จังหวัดร้อยเอ็ด 1 หมู่บ้าน (โพนทอง)

     วัฒนธรรมการแต่งกาย

       โดยลักษณะทางสังคม ชาวภูไท(ผู้ไทย) เป็นกลุ่มที่มีความขยัน และอดออมเป็นพิเศษ และมีวัฒนธรรมในเรื่องการถักทอเสื้อผ้าเด่นชัด จึงปรากฎเสื้อผ้าชนิดต่างๆ ทั้งฝ้าฝ้าย ผ้าไหมในกลุ่มชาวภูไท(ผู้ไทย) โดยเฉพาะผ้าแพรวานับว่ามีวัฒนธรรมเรื่องเสื้อผ้าเด่นชัดมาก

        ผ้าซิ่น วัฒนธรรมของกลุ่มภูไทที่เด่นชัด คือ การทอผ้าซิ่นหมี่ตีนต่อเป็นผืนเดียวกับผ้าผืน เช่น ตีนต่อขนาดเล็ก กว้าง 4 ถึง 5 นิ้ว (มือ) ที่เรียกว่า ตีนเต๊าะ เป็นที่นิยมในหมู่ภูไท ทอเป็นหมี่สาด มีหม้อย้อมคราม จนเป็นสีครามเกือบเป็นสีดำ แต่ชาวบ้านเรียกว่า?ผ้าดำ? หรือซิ่นดำ ลักษณะเด่นของซิ่นหมี่ชาวภูไท คือการทอและลวดลาย เช่น ทอเป็นลายขนาดเล็กๆ นอกจากนี้มีลายอื่น ๆ เช่น หมี่ปลา หมี่ตุ้ม หมี่กระจัง หมี่ข้อ ทำเป็นหมี่คั่น มิได้ทอเป็นหมี่ทั้งผืน แต่หากมีลายต่าง ๆ มาคั่นไว้ สีที่นิยมคือ สีเขียว สีน้ำเงิน สีแดง สีม่วง พื้นมักใช้เครือหูกฝ้ายสีเปลือกอ้อย นอกจากนี้ยังพบผ้ามัดหมี่ฝ้ายขาวสลับดำในกลุ่มผู้ไทย
เสื้อ นิยมทำเป็นเสื้อแขนกระบอกสามส่วนติดกระดุมธรรมดา กระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ เช่น เหรียญสตางค์ห้า สตางค์สิบ มาติดเรียงเป็นแถว นิยมใช้เป็นผ้าย้อม ครามเข้มใน ราว พ.ศ. 2480 โดยมีผู้นำผ้าขลิบแดงติดชายเสื้อ เช่น ที่คอสาบเสื้อปลายแขนเพื่อใช้ในการฟ้อนภูไทสกลนคร และใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

         ผ้าห่ม การทอผ้าผืนเล็ก ๆ เป็นวัฒนธรรมของชาวกลุ่มพื้นอีสานมานานแล้วผ้าห่มใช้สำหรับห่มแทนเสื้อกันหนาว ใช้คลุมไหล่ เช่นเดียวกับไทยลาวที่นิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่ ผ้าห่มของกลุ่มชนต่าง ๆ ในเวลาต่อมามีขนาดเล็ก ทำเป็นผ้าสไบเป็นส่วนแทนประโยชน์ใช้สอย เดิมคือห่มกันหนาว หรือปกปิดร่างกายส่วนบน โดยการห่มทับเสื้อ ผ้าห่มของภูไทที่เรียกว่า ผ้าจ่อง เป็นผ้าทอด้ายยืน มีเครื่องลาย เครื่องพื้นหลายแบบนอกจากนี้ยังมีผ้าแพรวานอกจากผ้าจ่องแล้ว ชาวภูไทยังมีผ้าลาย ซึ่งใช้เป็นผ้ากั้นห้อง หรือใช้ห่มแทนเสื้อกันหนาวหรือต่อกลาง 2 ผืน เป็นผ้าห่มขนาดใหญ่พอสมควร แต่ผ้าลายที่มีชื่อคือผ้าลายบ้านนางอย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร การแต่งกายของชาวภูไท ยังนิยมสายสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ข้อเท้า (ก้องแขน ก้องขา) ทำด้วยโลหะเงิน เกล้าผมเป็นมวยสูงตั้งตรงในสมัยโบราณใช้ผ้ามนหรือแพรมน ทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ม้วนผูกมวยผมอวดลายผ้าด้านหลังใน ปัจจุบันใช้ผ้าแถบเล็ก ๆ สีแดงผูกแทนแพรมน




ไฟร์วิดีโอ

เรือมกันตรึม


        
                           http://www.youtube.com/watch?v=jZn-plFsqXk
ไฟร์วีดิโอ

          กันตรึมเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายเขมรในเขตอีสานใต้ ซึ่งเป็นชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เล่นได้ทุกโอกาสไม่กำหนดว่าเป็นงานมงคลหรืออวมงคล ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาแต่เมื่อไร แต่มีประวัติเล่าว่า โบราณใช้สำหรับขับร้องประกอบการร่ายรำบวงสรวง หรือเล่นประกอบพิธีกรรม เรียกว่า เล่นเพลงอารักษ์ จากความเชื่อว่าผู้ป่วยประพฤติผิด ทำให้เทวดาอารักษ์ลงโทษ ส่วนชื่อกันตรึมมาจากเสียง “กลองกันตรึม” ที่ใช้บรรเลงเป็นหลัก เมื่อตีจะออกเป็นเสียง “กันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม”
กันตรึมถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านอื่นๆ ของจังหวัดแถบอีสานใต้ที่สื่อสารกันด้วยภาษาเขมร ไม่มีแบบแผนของท่ารำที่แน่นอน เพราะไม่เน้นทางด้านการรำ แต่เน้นความไพเราะของเสียงร้องและความสนุกสนานของทำนอง สำหรับเครื่องดนตรี นอกจากกลองกันตรึม 2 ลูก ยังมี ซอ ปี่อ้อ ขลุ่ย ฉิ่งและกรับ ส่วนบทเพลงส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกี้ยวพาราสี โอ้โลม ชมธรรมชาติ สู่ขวัญ เล่าเรื่อง แข่งขันปฏิภาณ ฯลฯ โดยผู้เล่นแต่งกายตามประเพณีของท้องถิ่น ผู้หญิงนุ่งซิ่น เสื้อแขนกระบอก ผ้าสไบเฉียงห่มทับ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอวและพาดไหล่
การเล่นเริ่มด้วยบทไหว้ครูระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระวิศวกรรม ครูบาอาจารย์ และเริ่มทักทายกัน จากนั้นจึงร้องบทต่างๆ ไป รวมถึงการร้องโต้ตอบระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ลักษณะรูปแบบเป็นเพลงปฏิพากย์ คล้ายเพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัดของภาคกลาง
บทร้องเป็นภาษาเขมร บทเพลงหนึ่งมี 4 วรรค แต่ละบทไม่จำกัดความยาว สัมผัสระหว่างบท บางบทมี บางบทไม่มี บทเพลงกันตรึมไม่นิยมร้องเป็นเรื่องราว มักคิดคำกลอนให้เหมาะกับงานที่เล่น หรือใช้บทร้องเก่าๆ ที่จำกันมา ทำนองเพลงมีมากกว่า 220 ทำนอง มากจนบางทำนองไม่มีใครจำได้ เพราะไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์ อาศัยการจดจำเท่านั้น คุณค่าของบทเพลงกันตรึมอยู่ที่เนื้อร้องส่วนใหญ่แสดงถึงวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมชนบท กล่าวถึงการทำนา ภารกิจงานบ้านซึ่งเป็นหน้าที่ของภรรยา การหารายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นหน้าที่ของสามี และแสดงค่านิยม อาทิ การเลือกคู่ครอง เป็นต้น
สืบประวัติกันตรึมพบแต่เพียงว่าได้รับถ่ายทอดมาแต่ขอม จากเดิมใช้สำหรับประกอบการบวงสรวงเวลาทรงเจ้าเข้าผี หรืองานพิธีกรรม โดยจังหวะลีลาการบรรเลงและบทเพลงแตกต่างกันไปตามลักษณะงาน เครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงก็ต้องเหมาะสมกับงาน ยกตัวอย่างปี่ ถ้าเป็นงานศพใช้ปี่อ้อ แต่ถ้าเป็นงานแต่ง งานใช้ปี่เตรียง หรือปี่เญ็น
จุดมุ่งหมายการเล่นกันตรึม
1.ตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น เช่น ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ได้แก่ โจลมะม็วดบองบ็อด หรือทรงเจ้าเข้าผี
2.เฉลิมฉลองงานมงคลต่างๆ เช่น ทำบุญบ้าน บวชนาค โกนจุก บุญฉลองอัฐิและบุญกฐิน
3.เฉลิมฉลองในงานประจำปี เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง
4.เป็นการรักษาศิลปะ ประเพณีการละเล่นพื้นบ้านมิให้สูญหาย
5.ส่งเสริมการแสดงด้านดนตรี ถือกันว่ากันตรึมเป็นดนตรีสำคัญมาแต่โบราณ มีความไพเราะเข้าถึงจิตใจของผู้ฟังมากกว่าดนตรีประเภทอื่นๆ
ในชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรในเขตอีสานใต้ ในสมัยโบราณ ในงานแต่งงาน เจ้าสาวบางคนถึงกับวางเงื่อนไขว่า หากไม่เอากันตรึมมากล่อมหอ จะไม่ยอมร่วมหอลงโรงด้วย ที่ถึงกับเลิกล้มการแต่งงานกลางคันก็มี พราะถือว่าไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้เจ้าสาวเสียขวัญและกำลังใจหรืออาจมีอันเป็นไป ซึ่งหมายถึงการหย่าร้างหรือพลัดพรากจากกัน