วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เรือมกันตรึม


        
                           http://www.youtube.com/watch?v=jZn-plFsqXk
ไฟร์วีดิโอ

          กันตรึมเป็นการละเล่นพื้นเมืองของชาวไทยเชื้อสายเขมรในเขตอีสานใต้ ซึ่งเป็นชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาถิ่น เช่น จังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เล่นได้ทุกโอกาสไม่กำหนดว่าเป็นงานมงคลหรืออวมงคล ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาแต่เมื่อไร แต่มีประวัติเล่าว่า โบราณใช้สำหรับขับร้องประกอบการร่ายรำบวงสรวง หรือเล่นประกอบพิธีกรรม เรียกว่า เล่นเพลงอารักษ์ จากความเชื่อว่าผู้ป่วยประพฤติผิด ทำให้เทวดาอารักษ์ลงโทษ ส่วนชื่อกันตรึมมาจากเสียง “กลองกันตรึม” ที่ใช้บรรเลงเป็นหลัก เมื่อตีจะออกเป็นเสียง “กันตรึม โจ๊ะ ตรึม ตรึม”
กันตรึมถือเป็นแม่บทของเพลงพื้นบ้านและการละเล่นพื้นบ้านอื่นๆ ของจังหวัดแถบอีสานใต้ที่สื่อสารกันด้วยภาษาเขมร ไม่มีแบบแผนของท่ารำที่แน่นอน เพราะไม่เน้นทางด้านการรำ แต่เน้นความไพเราะของเสียงร้องและความสนุกสนานของทำนอง สำหรับเครื่องดนตรี นอกจากกลองกันตรึม 2 ลูก ยังมี ซอ ปี่อ้อ ขลุ่ย ฉิ่งและกรับ ส่วนบทเพลงส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกี้ยวพาราสี โอ้โลม ชมธรรมชาติ สู่ขวัญ เล่าเรื่อง แข่งขันปฏิภาณ ฯลฯ โดยผู้เล่นแต่งกายตามประเพณีของท้องถิ่น ผู้หญิงนุ่งซิ่น เสื้อแขนกระบอก ผ้าสไบเฉียงห่มทับ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าไหมคาดเอวและพาดไหล่
การเล่นเริ่มด้วยบทไหว้ครูระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระวิศวกรรม ครูบาอาจารย์ และเริ่มทักทายกัน จากนั้นจึงร้องบทต่างๆ ไป รวมถึงการร้องโต้ตอบระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ลักษณะรูปแบบเป็นเพลงปฏิพากย์ คล้ายเพลงฉ่อย เพลงเรือ หรือลำตัดของภาคกลาง
บทร้องเป็นภาษาเขมร บทเพลงหนึ่งมี 4 วรรค แต่ละบทไม่จำกัดความยาว สัมผัสระหว่างบท บางบทมี บางบทไม่มี บทเพลงกันตรึมไม่นิยมร้องเป็นเรื่องราว มักคิดคำกลอนให้เหมาะกับงานที่เล่น หรือใช้บทร้องเก่าๆ ที่จำกันมา ทำนองเพลงมีมากกว่า 220 ทำนอง มากจนบางทำนองไม่มีใครจำได้ เพราะไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์ อาศัยการจดจำเท่านั้น คุณค่าของบทเพลงกันตรึมอยู่ที่เนื้อร้องส่วนใหญ่แสดงถึงวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมชนบท กล่าวถึงการทำนา ภารกิจงานบ้านซึ่งเป็นหน้าที่ของภรรยา การหารายได้เลี้ยงครอบครัวเป็นหน้าที่ของสามี และแสดงค่านิยม อาทิ การเลือกคู่ครอง เป็นต้น
สืบประวัติกันตรึมพบแต่เพียงว่าได้รับถ่ายทอดมาแต่ขอม จากเดิมใช้สำหรับประกอบการบวงสรวงเวลาทรงเจ้าเข้าผี หรืองานพิธีกรรม โดยจังหวะลีลาการบรรเลงและบทเพลงแตกต่างกันไปตามลักษณะงาน เครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงก็ต้องเหมาะสมกับงาน ยกตัวอย่างปี่ ถ้าเป็นงานศพใช้ปี่อ้อ แต่ถ้าเป็นงานแต่ง งานใช้ปี่เตรียง หรือปี่เญ็น
จุดมุ่งหมายการเล่นกันตรึม
1.ตามความเชื่อของคนในท้องถิ่น เช่น ความเชื่อทางไสยศาสตร์ ได้แก่ โจลมะม็วดบองบ็อด หรือทรงเจ้าเข้าผี
2.เฉลิมฉลองงานมงคลต่างๆ เช่น ทำบุญบ้าน บวชนาค โกนจุก บุญฉลองอัฐิและบุญกฐิน
3.เฉลิมฉลองในงานประจำปี เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ ลอยกระทง
4.เป็นการรักษาศิลปะ ประเพณีการละเล่นพื้นบ้านมิให้สูญหาย
5.ส่งเสริมการแสดงด้านดนตรี ถือกันว่ากันตรึมเป็นดนตรีสำคัญมาแต่โบราณ มีความไพเราะเข้าถึงจิตใจของผู้ฟังมากกว่าดนตรีประเภทอื่นๆ
ในชุมชนที่ใช้ภาษาเขมรในเขตอีสานใต้ ในสมัยโบราณ ในงานแต่งงาน เจ้าสาวบางคนถึงกับวางเงื่อนไขว่า หากไม่เอากันตรึมมากล่อมหอ จะไม่ยอมร่วมหอลงโรงด้วย ที่ถึงกับเลิกล้มการแต่งงานกลางคันก็มี พราะถือว่าไม่สมบูรณ์แบบ ทำให้เจ้าสาวเสียขวัญและกำลังใจหรืออาจมีอันเป็นไป ซึ่งหมายถึงการหย่าร้างหรือพลัดพรากจากกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น